สารจากประธานเครือข่าย

     TNJ คือตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษที่มาจากชื่อของเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น คือ 

Thai Network in Japan แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า在日タイ人ネットワーク

     ความเป็นมา ปี พ.ศ.2545 เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวนายกษิต ภิรมย์ ขณะมาดำรงตำแหน่งระยะหนึ่ง ได้ให้โอกาสประธานและรองประธานเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น เข้าพบเพื่อสอบถามถึงความเป็นมาของอาสาสมัครไทยในญี่ปุ่น จึงได้เรียนให้ทราบว่า อาสาสมัครไทย ที่อยู่ตามเขตต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น หรือประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์, การเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือ ปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากอาสาสมัครส่วนมากไม่ได้มีความรู้ทางด้านการให้คำปรึกษาเพราะส่วนมากเป็นแม่บ้าน หรือทำงานด้านอื่นๆ แต่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะได้มีโอกาสช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน ซึ่งยังขาดทักษะในการให้คำปรึกษาแก่คนไทยที่ประสบปัญหา ประกอบกับตัวอาสาสมัครเองก็เกิดความเครียดสะสมเนื่องจากการรับฟังปัญหาหลายๆด้านของผู้มาขอรับคำปรึกษา ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถของอาสาสมัครในการเป็นที่ปรึกษาที่ดี และ รู้จักวิธีการจัดการความเครียดสะสมของตัวเอง ทางเครือข่ายฯ จึงมีความสนใจขอการสนับสนุนจากทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยประสานงานกับกรมสุขภาพจิต มาอบรมอาสาสมัครไทยในญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นการ เริ่มต้นของโครงการสุขภาพจิตครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.2546 และอีกประการหนึ่งได้เสนอประเด็นในเรื่องที่ต้องการให้ผู้หญิงไทยเปลี่ยนอาชีพ จากหญิงบริการดื่มกับแขก ให้มีอาชีพอื่นแทน ท่านจึงได้ริเริ่มให้เกิด โครงการสอนนวดแผนไทย, โครงการฝึกผู้ดูแลผู้สูงอายุ, โครงการสอนแกะสลักผัก,ผลไม้ และสบู่, โครงการสอนการทำอาหารไทย และโครงการศึกษานอกระบบต่อมา

     ภายหลัง หลังจากที่ท่านทูตกษิต ภิรมย์ หมดวาระการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการมอบหมาย เรื่องงานพัฒนาและกิจกรรมของอาสาสมัครฯ ให้ได้รับการสนับสนุนต่อกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว คนต่อมา คือ นายสุวิทย์ สิมะสกุล

ต่อมาอาสาสมัครไทยที่อยู่ตามเขตต่างๆ ได้มีโอกาสรวมตัว โดยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับ “การสร้างความเข้มแข็งชุมชนคนไทยในญี่ปุ่น” การอบรมครั้งนั้น โดยอธิบดีกรมการกงสุลมาเป็นประธานและ มีวิทยากรมาจากกรมสุขภาพจิต ทำให้อาสาสมัครที่มีจิตอาสา เกิดแรงบันดาลใจและมีความ ต้องการที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ในการช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาในญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และจากการประชุมอบรมต่อมา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2550 ผู้แทนอาสาสมัครจากเขตต่างๆอาทิ เช่นอิบารากิ โทจิกิ ไซตามะ ชิบะ โตเกียว คานากาวะ ยามานาชิ นากาโนะ และไอจิ ได้รวมตัวกันก่อตั้งเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น โดย มีชื่อย่อว่า ทีเอ็นเจ (TNJ) มี เป้าหมายหลัก

1)เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และการร่วมมือประสานงานอย่างเป็นระบบ ระหว่าง อาสาสมัคร กับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้อง

2)เพื่อรณรงค์ในการยกระดับ การรับรู้ และการตื่นตัวของสาธารณชน ต่อสภาพสังคมที่กำลังประสบปัญหา

3)เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพลูกข่ายที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานในการพัฒนาสังคม ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

4)เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาศักยภาพของลูกข่าย ในด้านการบริหารจัดการ และเพิ่ม ทักษะการพึ่งตนเองในระยะยาว

 

โครงสร้างเครือข่าย ประกอบด้วย

 

1.แม่ข่ายซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารที่มากจากการเลือกตั้ง (โดยมีวาระ 4ปี) จำนวน 8 คน คือ ประธาน ฯ, รองประธาน ฯ, เลขาฯ,  ผู้ช่วยเลขาฯ, เหรัญญิก, ผู้ช่วยเหรัญญิก, ประชาสัมพันธ์, ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ 

 

2.ลูกข่าย จาก เขตต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น

ภารกิจของเครือข่าย คือ

- การสนับสนุน กิจกรรมการช่วยเหลือ และดูแลคนไทยที่อาศัยอยุ่ในประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบปัญหาใน ด้านต่างๆ เช่น ด้านกฎหมาย,ด้านสุขภาพ, ด้านแรงงาน, การปรับตัวในการอยู่อาศัย เป็นต้น

- ศึกษา ค้นคว้า ปรึกษา เพื่อนำเสนอทางเลือก และการพัฒนาเครือข่ายฯ, แนวทางการช่วยเหลือที่ยั่งยืน อย่างเสมอภาพ แก่ลูกข่าย พันธมิตร และสื่อต่างๆ

- สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ โดยเพิ่มการเชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของลูกข่ายและสมาชิกของลูกข่ายในในเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาตัวเองพร้อมทั้งฝึกทักษะในการเชื่อมโยงวิเคราะห์เพื่อ ให้ทันต่อสถานการณ์ เข้าใจในแนวนโยบายต่างๆที่จำเป็นต้องรู้ และการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์

 

ผลงานเครือข่ายฯ

     ตั้งแต่ปีพ.ศ.2550จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการเครือข่ายฯมีบทบาทในการประสานงานกลาง ทำหน้าที่ในการเชื่อมสมาชิกของลูกข่ายในการทำงานเชิงกระบวนการ ด้วยกิจกรรมต่างๆมาตลอด และบทบาทที่สำคัญอีกประการได้แก่การผลักดันให้เกิดเวทีวิเคราะห์ ติดตามปัญหา สถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ภาคประชาชนรู้เท่าทันข้อมูลสถานการณ์ในประเด็นต่างๆ เช่น จัดการบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวสึนามิ3.11.11-2.46ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เมื่อวันที่10กรกฎาคม พ.ศ.2554 ในเรื่อง “รู้เท่าทันกันมันตรังสี” และเมื่อปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมาได้ จัดการอบรมเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้สำหรับกฎหมายใหม่ “เรื่อง กฎหมายใหม่ของกรมตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น” เป็นต้น

     และจากการประเมินกิจกรรมของลูกข่ายที่ผ่านมา พบว่าช่วงเวลา 5 ปีในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ลูกข่ายบางเขตมีการพัฒนาและเติบโตที่รวดเร็วมาก     ซึ่งทุกอย่างขึ้นกับองค์ประกอบต่างๆของสมาชิกในเขตนั้นๆเอง เช่นความพร้อมด้านผู้นำ,ทัศนคติสมาชิกของเขต,ปัจจัยที่เกื้อหนุน,เศรษฐกิจ และศักยภาพของอาสาสมัครในเขตพื้นที่นั้นๆแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจิตอาสาที่อยู่ในใจของอาสาสมัครในเขตนั้น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทำด้วยใจรัก ด้วยใจเต็มร้อย ผลที่ตอบแทน คือความอิ่มเอมใจซึ่งไม่มีสิ่งใดจะมาเปรียบได้

 

แนวทางในอนาคต

     เครือข่าย ฯ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครจากทางเขตคันไซ คิวชู ชิโกกุ     โอกินาวะ และฮ็อกไกโด เข้ามาร่วมหุ้นส่วนกับทีเอ็นเจเพราะคนไทยที่อาศัยในเขตคันโต มีการโยกย้ายถิ่นฐานกัน บางคนย้ายไปอยู่เขตอื่น และคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละเขตคล้ายคลึงกัน ดังนั้นถ้ามีโอกาสและทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิด เรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องกรณีศึกษา จะช่วยในการนำประสบการณ์มาแก้ไขปัญหาในเขตของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นและ เพื่อที่อาสาสมัครในเครือข่ายฯทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา จะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายใต้ปณิธาน ที่ว่า “การให้ย่อมมีความสุขมากกว่าการรับ” เพราะการทำ กิจกรรมของอาสาสมัครเป็นงานที่ทำด้วยใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ผลตอบแทนไม่ได้เป็นตัวเงินเป็นปัจจัยหลัก แต่สิ่งที่จะได้รับคือการเห็นผู้ที่ประสบปัญหาเกิดความทุกข์ต้องการความช่วยเหลือ และอาสาสมัครได้เข้าไปมีบทบาทในการบรรเทาความทุกข์ เป็นผู้ช่วยลดความเครียดจากการหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาวะของการเพิ่มขึ้นของปัญหาสังคมที่อาจจะตามมา ถ้าผู้ประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง อาสาสมัครเองได้ผลตอบแทนโดยตรงคือ ความอิ่มเอมใจ ความภาคภูมิใจ ซึ่งยากต่อการที่จะบรรยายเป็นคำพูด หรือวัดเป็นมูลค่าได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการช่วยคนอื่นมากเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น และผลที่ได้ต่อมาคือการที่ลูกหลาน เห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำโดยไม่หวังผลตอบแทน เขาก็จะเลียนแบบ และเป็นที่รักที่เอ็นดูของคนรอบข้าง รู้จักมองโลกในแง่ดี แง่บวก ไม่โทษสังคม โทษดวง หรือโชคชะตา ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของตนเอง ถ้ามีจิตสำนึก รู้จักประมาณตนเอง ปัญหาทุกอย่างย่อมแก้ได้

     สุดท้ายนี้ ใคร่ขอให้เพื่อนพี่น้อง ชาวไทยในประเทศญี่ปุ่นให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน มีความ ซื่อสัตย์สุจริต มีใจโอบอ้อมอารีต่อกัน ด้วยรอยยิ้มสยาม และใช้ชีวิตอย่างเศรษฐกิจพอเพียง

ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความสมดุลย์ในการดำเนินชีวิต ความสุขเริ่มต้นที่ครอบครัว เมื่อครอบครัวมีความสุข ลูกหลานก็จะมีกำลังใจต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ก่อนที่จะต่อว่าต่อขานเด็กรุ่นใหม่ หรือลูกหลานของตน ขอให้มองตัวเองก่อน ประเมินตนก่อนว่าทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ให้คนรุ่นต่อไปเลียนแบบได้หรือไม่ ถ้ามีจุดบกพร่องใด ก็เริ่มต้นปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีก่อน เชื่อว่าไม่มีสิ่งใดสายเกินแก้

วีริน ทาเคดะ

ประธานเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น

 

 

โครงสร้างเครือข่าย

ダウンロード
แผนผังแสดงโครงสร้างเครือข่าย
แผนผังที่2.pdf
PDFファイル 98.9 KB

กลุ่มสมาชิกลูกข่าย

ระบบการทำงานของเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น(TNJ)ในปัจจุบันประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารจำนวน 8 คน และมีตัวแทนลูกข่ายจากเขตจังหวัดต่างๆ 12 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่

1.นากาโนะ มีตัวแทน 2 กลุ่มคือกลุ่มเครือข่ายคนไทยในนากาโนะ,จากเพื่อนถึงเพื่อนมัตสึโมโต้

2.นิงาตะ มีตัวแทนคือกลุ่มมิตรภาพ

3.อิบารากิ มีตัวแทนคือกลุ่มเครือข่ายคนไทยในอิบารากิ

4.โทจิกิ มีตัวแทนคือกลุ่มเด็กไทย

5.คานากาวะ มีตัวแทนคือกลุ่มช้างไทย

6.ไซตามะ มีตัวแทน 2 กลุ่มคือกลุ่มเครือข่ายคนไทยในไซตามะ,กลุ่มบ้านน้ำใจ

7.ชิซุโอกะ มีตัวแทนคือกลุ่มเครือข่ายคนไทยในชิซุโอกะ

8.นาโกย่า มีตัวแทนคือกลุ่มเครือข่ายคนไทยในไอจิ

9.โตเกียว มีตัวแทน 2 คือกลุ่มตะวันและกลุ่มเวลาวารี


รายชื่อกรรมการบริหารเครือข่ายประจำปีพ.ศ. 2559

 

                ตำแหน่ง                      ชื่อนามสกุล
ประธานเครือข่าย วีริน ทาเคดะ
รองประธาน รัตนาภรณ์ ทนานนท์
เลขานุการ สายรุ้ง ทานากะ 
เหรัญญิก พัชราภรณ์ ยามาดะ
ประชาสัมพันธ์ ชลพร โคมูโระ
รองเลขานุการ แสงเดือน อะราอิ